IMG 0129 0

(วันที่ 28 ธันวาคม 2566)  ที่ ห้องประชุมรวยปราสาท ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมหารือการดำเนินการเปิดจุดรวมสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย นายชนินทร์  รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายสันทัด  แสนทอง  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวต้อนรับ  หัวหน้าส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจ หัวหน้าส่วนราชกาสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ

.

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมจากการทำงานเชิงบูรณาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนการค้าไทย รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ที่กำลังเดินหน้าในเรื่องของการขนส่งสินค้าเกษตรทางราง จากไทย ลาว เข้าจีน และต่อไปยังยุโรป มุ่งสร้างเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ โดยมีเป้าหมาย คือ การขยายตลาดสินค้าเกษตร และยกระดับรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขยายตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ

.

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญ ในการพัฒนาภาคการเกษตร มุ่งเน้นการสร้างรายได้ในภาคการเกษตรโดยใช้หลักการ "ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ " โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วยกัน จึงได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เร่งจัดทำมาตรการดูแลเกษตรกร รวมถึงเตรียมแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจการค้า ประชาชน เกษตรกร มีโอกาสพบปะหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน และเชื่อมโยงกรค้าชายแดนของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเจรากับคู่ค้าสินค้าปศุสัตว์ระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย Sand Box ตามรูปแบบ “สุรินทร์โมเดล” ต่อไป

.

นายอภิชัย นาคีสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการผลักดันการค้าปศุสัตว์ชายแดนมายังต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าของสินค้าปศุสัตว์ ด้วยขับเคลื่อนการค้าสินค้าปศุสัตว์ชายแดน โดยจุดเด่นของจังหวัดสุรินทร์ มีกลุ่มวสาหกิจผู้เลี้ยงโคเนื้อที่เข้มแข็ง ประชากรโคเนื้อมากที่สุดในประเทศไทย เนื้อโควากิวที่มีคุณภาพอีกทั้ง ตลาดนัดโค-กระบือ จำนวน 4 แห่ง ที่เป็นแหล่งซื้อซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน พร้อมด้วยโรงฆ่าสัตว์ (ชนิดโค-กระบือ) ที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการผลิต

.

ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์มีการจัดงานขับเคลื่อนการค้าสินค้าปศุสัตว์ชายแดน มาแล้ว 2 ครั้ง  โดยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 – 29  กันยายน 2563 ภายใต้โครงการ "เปิดบ้านสุรินทร์" (SURIN Open up)  นำร่องการเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนาม  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 -25  กันยายน พ.ศ.2565 ภายใต้โครงการสุรินทร์ โมเดล เฟส 2 การเจรจาจับคู่การค้า ของผู้ประกอบการประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา รวมถึงเวียดนาม  และมีกำหนดจัดงานฯ ครั้งที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Sand Box ตามรูปแบบ "สุรินทร์โมเดล ขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อดำเนินการเปิดจุดรวมสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์