ab8c7a4605584cafa985603c017ba528 small

 

           ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 13 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่สุรินทร์ ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พร้อมเน้นย้ำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่า "โรคพิษสุนัขบ้า เป็นแล้วรักษาไม่หาย ตายทุกราย"

                วันนี้ (1 พ.ค 62) นายกรีฑา สพโชค ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประชุมติดตามสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายพจพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและนำเสนอผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 มีผู้ป่วย อายุ 32 ปี อาชีพรับจ้างชำแหละซากสัตว์ เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 1 คน นับเป็นรายแรกของปีนี้ เนื่องจากถูกสุนัขกัดและไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นในช่วงบ่าย ได้ลงพื้นที่พบปะและสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่บ้านไท และชุมชนโพธิ์ทอง อำเภอเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่พบมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าด้วย

                  นายกรีฑา สพโชค ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยทำการฉีดวัคซีนสุนัขและแมวในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาสุนัขจรจัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ขอให้ผู้นำท้องถิ่นและชุมชน เร่งสำรวจและประสานปศุสัตว์จังหวัดเพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมทั้งหมด พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนได้รับรู้ว่าโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นแล้วรักษาไม่หาย ตายทุกราย ดังนั้น จึงต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกกัด หากถูกสนัข แมวกัด ข่วน เลียแผล จะต้องล้างแผลให้สะอาดแล้วไปพบหมอเพื่อรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบชุดตามกำหนดนัด ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ และต้องนำสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่อายุ 2 เดือนเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

                   สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสุรินทร์ ตังแต่ปี 2560-2561 มีผู้เสียชีวิต 2 คน โดยในปี 2561 มีสัตว์ที่พบหัวบวก จำนวน 186 ตัว คิดเป็นร้อยละ 38.67 จากตัวอย่างทั้งหมด 482 ตัวอย่าง จากทั้ง 17 อำเภอ พบสูงสุด คือ อำเภอเมืองสุรินทร์ จำนวน 82 ตัวอย่าง และในปีนี้ พบผลบวก 52 ตัวอย่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ มากที่สุด 11 ตัวอย่าง และอำเภอปราสาท 10 ตัวอย่างตามลำดับ

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : ว่าที่ร้อยตรีกิติวรรณ มณีล้ำ

ผู้เรียบเรียง : สุนทรี ทับมาโนช

แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์